Ergophobia

Ergophobia โรคกลัวการทำงานที่หลายคนเริ่มงานแล้วอาจจะเจอ

ในแต่ละวันเราใช้เวลาไปกับการทำงานมากถึง 8-10 ชั่วโมง ซึ่งกินเวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาที่เราตื่น จึงพูดได้ว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ไปแล้ว และด้วยความเครียดจากการทำงานบวกกับสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้การทำงานอาจจะไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับทุกคน จนทำให้โรคที่เกี่ยวกับการทำงานเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นก็คืออาการ Ergophobia หรือ โรคกลัวการทำงาน

โรคกลัวการทำงาน หรือ Ergophobia เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง คนที่เป็นโรคนี้มักจะมีความรู้สึกกลัว และ วิตกกังวลเกี่ยวกับงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานของตัวเองอย่างมาก เช่น กลัวทำงานได้ไม่ดีอย่างที่คิดไว้ กลัวการพรีเซนต์งาน กลัวทำงานพลาด กลัวถูกไล่ออก และ ยังรวมไปถึงความกลัวการเข้าออฟฟิศ หรือ เข้าประชุมงานด้วย ไม่อยากไปทำงาน ซึ่งเป็นความกลัวที่มากเกินกว่าปกติ หลาย ๆ ครั้งไม่มีสาเหตุที่มาที่ไปของความกลัวนี้ และถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนที่ทำงานหรือประเภทของงานไปแล้วความกลัวการทำงานนี้ก็จะไม่ได้หายไป

สาเหตุหลักของโรคกลัวการทำงาน มีมาจากหลายปัจจัย แต่ส่วนมากพบว่ามักเกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ดีหรือประสบการณ์เชิงลบในที่ทำงาน เช่น เคยถูกไล่ออก ถูกเพื่อนในที่ทำงานนินทาหรือล้อเลียนจนอับอายและสร้างผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือบางรายอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือโรคทางใจโรคอื่น เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคกลัวการเข้าสังคม

อาการของโรคมักจะแสดงออกทั้งทางด้านร่างกาย ความรู้สึก และพฤติกรรม โดยจะเกิดขึ้นทันทีที่ผู้ป่วยเดินทางไปทำงาน มาลองเช็กกันดูว่าเรามีอาการเข้าข่ายเป็นโรคกลัวการทำงานกันอยู่หรือเปล่า

อาการทางร่างกาย

  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • หายใจเร็วขึ้น และ รู้สึกสำลัก
  • กล้ามเนื้อตึงเครียด ทำให้รู้สึกปวดหัว และ ปวดท้อง
  • เหงื่อออกมากกว่าปกติ
  • รู้สึกคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หรืออยากอาเจียน

อาการทางความรู้สึก

  • รู้สึกวิตกกังวล เมื่อรู้ว่าจะต้องเดินทางไปทำงาน
  • เกิดความรู้สึกเชิงลบ และ ทรมานอยู่เสมอต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  • ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกกลัว หรือ วิตกกังวลของตัวเองได้ แม้จะรู้ว่าความกลัวต่อการทำงานของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลก็ตาม

ถ้าใครเข้าข่ายมีอาการของโรคกลัวการทำงานแล้วล่ะก็ สามารถเข้าไปขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือ นักจิตบำบัดได้ ซึ่งวิธีการรักษาโรคกลัวการทำงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันแล้ว ควรจะต้องไปพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตบำบัดโดยตรง เพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี และ ทำให้คุณกลับมามีชีวิตการทำงานที่เป็นปกติอีกครั้ง